Sub Navigation Links

webmaster's News

คอลัมน์ สุขสาธารณะ: รอยเกวียนแห่งการเรียนรู้สู่สังคมสุขภาวะ(1) โดย สุชน นนท์บุรี



คอลัมน์ สุขสาธารณะ: รอยเกวียนแห่งการเรียนรู้สู่สังคมสุขภาวะ(1)  โดย  สุชน นนท์บุรี



ช่วงสัปดาห์สุดท้าย ปลายเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาส เข้าร่วมงานประชุมวิชชาการ 4 ภาค เพื่อถ่ายทอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับ "นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม" ในหลายๆ พื้นที่ งานนี้ มีภาคีเครือข่ายจากพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน กลาง และภาคใต้ ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คล้องแขนกันมาจัด กระบวนการพัฒนาความรู้จากการปฏิบัติ ได้อย่างน่าชื่นใจครับ
         
คำว่า "นโยบายสาธารณะ" คือ นโยบาย แนวทาง หรือข้อเสนอในการแก้ปัญหาให้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ โดยมี กุญแจสำคัญ คือ ประชาชน ชุมชน ทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันกำหนด ร่วมกันรับผิดชอบ และร่วมดำเนินการ ผลจากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ดอกไม้หลากสีที่ผลิบานในหลายๆ พื้นที่ที่ได้นำกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  ไปใช้
   &nb sp;    
 ขอเริ่มจาก ภาคกลาง ซึ่งมีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมและภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคกลาง 26 จังหวัด ร่วมกันเป็นแม่งานก่อนนะครับ มีบทเรียนน่าสนใจจาก นครนายก ซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองแห่งธรรมชาติ มีทั้งน้ำตก ป่าไม้ ภูเขา แต่ปัจจุบันได้มีธุรกิจผุดขึ้นมากมาย ทั้งท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ขยะต่างๆ สร้างปัญหาสารพัด ทั้งการจราจร มลพิษ สารเคมีภาคเกษตร ยาเสพติด และน้ำท่วม ผู้คนไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพเหมือนแต่ก่อน ภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนจึงร่วมกันจัดตั้ง สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครนายก ขึ้น เพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ชุมชนคนท้องถิ่น ด้วยเป้าหมาย "บ้านสวยใส ไร้มลพิษ สู่คุณภาพชีวิตที่ดี"
       
  ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ วงสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่ริเริ่มจากภาคประชาสังคม จึงเชื่อมโยงและ สานพลังทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ นำไปสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม กระทั่งเกิดโครงการดีๆ เช่น "เกษตรอินทรีย์ เพื่อชีวิตดีมีสุข" และแนวทางจัดการปัญหาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นระบบ ไม่กระทบวิถีชีวิตชุมชน เริ่มตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดความก้าวหน้าที่เรียกได้ว่าน่าพอใจจริงๆ
       
  อีกพื้นที่นึงอยู่ที่ภาคเหนือ ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการพัฒนาสตรีและเยาวชนลำปาง และภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคเหนือ เป็นเจ้าภาพจัดกระบวนการถอดบทเรียน โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากพื้นที่ ตำบลเขาทอง จังหวัดนครสวรรค์ ชุมชนแถบนี้เผชิญกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของประชากร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ผู้สูงอายุหลายท่านมีปัญหาสุขภาพ เป็นผู้ป่วยติดเตียง รู้สึกโดดเดี่ยว ท้อแท้
        
 จากสถานการณ์ข้างต้น แกนนำชุมชน "ชมรมคนรัก ฒ เขาทอง" ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีจิตสาธารณะ จึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพัฒนาเป็นธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ หรือเรียกง่ายๆว่า "ธรรมนูญ ฒ ผู้เฒ่าที่เขาทอง" มีการตั้ง "คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง" เชิญพระครูนิภาธรรมวงศ์ มาเป็นประธานศูนย์รวมจิตใจให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น ชาวบ้าน มาระดมสมอง มองอนาคต รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยใช้หอประชุมวัดเขาทองเป็นสถานที่จัดงาน ปรากฏว่ามีผู้คนในชุมชนมาร่วมคราวละ 200-300 คน
        
 กระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ตั้งแต่มิถุนายน-ธันวาคม 2558 สุดท้ายก็สามารถประกาศ ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2558 ซึ่งถือเป็นวันรัฐธรรมนูญด้วย โดยมีนายอำเภอพยุหะคีรี นำกล่าวปฏิญาณว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกันยึดถือธรรมนูญทั้ง 6 หมวด 32 ข้อ ไปปฏิบัติอย่างเต็มที่
        
 ปัจจุบัน ชุมชนต่างๆ เข้ามาขอดูศึกษาดูงานที่ตำบลเขาทองจำนวนมาก และ สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ ก็ได้นำไปบรรจุเป็นเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาระบบสุขภาพของชาวปากน้ำโพเรียบร้อยแล้ว
      &n bsp;
  นี่คือตัวอย่างของกระบวนการมีส่วนร่วม ที่ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู แต่ "บูรณาการ" ก้าวข้ามอุปสรรค สร้างสรรค์เรื่องดีๆ จิตสำนึกดีๆ ได้อย่างแท้จริง สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อครับ!!


ที่มา   เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  22nd Jul 16

จำนวนผู้ชม:  34963

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ธรรมนูญสุขภาพ

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง