Sub Navigation Links

webmaster's News

ชุมชนเข้มแข็ง’ ปราการป้องกันโควิด 19
ใช้พลังบวกก้าวผ่านวิกฤตร่วมกัน



ชุมชนเข้มแข็ง’ ปราการป้องกันโควิด 19
ใช้พลังบวกก้าวผ่านวิกฤตร่วมกัน



ความเข้มแข็งและการผนึกพลังของ ‘ชุมชน’ เป็นส่วนสำคัญในการคลี่คลายปัญหาซับซ้อนมานักต่อนัก ดังนั้นการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่า (COVID 19) ที่กำลังลุกลามไปทั่วทั้งโลกอยู่ในขณะนี้ ก็ย่อมไม่ได้อยู่เหนือความสามารถของการใช้พลังชุมชนในการจัดการ

ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบในสมรภูมิสุขภาพ เราได้เห็นมาตรการภาครัฐและภาพความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่างๆ ทรัพยากรจำนวนมากถูกระดมออกมาทำศึกเต็มกำลัง เหล่านี้ช่วยชะลอความสูญเสียของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยิ่งจะสร้างความมั่นใจซึ่งจะกลายเป็นชัยชนะของประเทศในระยะยาวได้มากขึ้น หาก “ชุมชน” เข้ามามีบทบาทในการสู้วิกฤตไวรัสครั้งนี้

“ชุมชนเข้มแข็ง” พลังป้องกันโควิด 19 เป็นประเด็นพูดคุยผ่านสถานีวิทยุ อสมท. คลื่นความคิด FM 96.5 โดย นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสาระสำคัญตอนหนึ่ง ได้อธิบายรากฐานของเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน

รองฯ อรพรรณ บอกว่า การจัดทีมของคนในชุมชนร่วมสนับสนุนการทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ โดยตกลงแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชน ยึดหลักการป้องกันควบคุมโรคตามคำแนะนำของรัฐ จะช่วยให้ชุมชนและประชาชนรับมือกับโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างความสำเร็จมีให้เห็นจากชุมชนในอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีแรงงานเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงกว่า 20 ชีวิต แน่นอนว่าถ้าจะรอให้ทางการมาตรวจก็คงไม่ทันการณ์ คนในชุมชนจึงช่วยกันสนับสนุนเอื้ออำนวยให้แรงงานกักกันตัวเอง กระทั่งผ่านไป 14 วัน คนเหล่านั้นก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอย่างมีความสุข
หรือในสังคมแนวดิ่ง เช่น คอนโดมีเนียม ก็มีกรณีการกักตัวในคอนโดฯ เกิดขึ้นมาแล้ว โดยผู้ที่มีความเสี่ยงได้แจ้งให้นิติบุคคลทราบ ซึ่งนิติฯ ก็ไม่รังเกียจหรือขับไล่ แต่กลับมาช่วยเตรียมระบบความปลอดภัย รักษาความสะอาดต่างๆ ส่วนผู้พักอาศัยคนอื่นๆ ก็มาช่วยเรื่องอาหารการกิน สุดท้ายเมื่อครบกำหนด ผู้ที่กักตัวคนนี้ก็กลับออกมาและได้ร่วมบริจาคหน้ากากอนามัยให้กับคนอื่นๆ ต่อไป

“ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปก่นด่าว่ากัน แต่เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อย่างกรณีของคนป่วย เขาก็รู้สึกแย่อยู่แล้ว มุมมองของสังคมควรเป็นไปในทางบวก คือ ให้กำลังใจกัน ช่วยกันสร้างให้เกิดความระมัดระวังและการตระหนักมากขึ้น หรือกรณีบุคลากรทางการแพทย์ เราต้องเข้าใจถึงความเหนื่อยล้าของเขา เห็นอกเห็นใจกัน” นางอรพรรณ ระบุ
นอกจากนี้ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังได้จำแนกความแตกต่างระหว่าง “ชุมชนเมือง” และ “ชุมชนชนบท” เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพในการยับยั้งวิกฤตไวรัสโควิด19
สำหรับ “ชุมชนเมือง” มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดได้มาก ประชาชนต้องหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการรวมตัวกัน โดยสิ่งที่จะเป็นอาวุธสำคัญของชุมชนเมืองคือ “สังคมออนไลน์” ที่สามารถช่วยกระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทว่าสิ่งสำคัญคือการต้องตรวจสอบข้อมูล ชัวร์ก่อนแชร์ ทำหน้าที่เป็นพลเมืองตื่นรู้ Active Citizen เพื่อลดข่าวปลอม
   
ในส่วนของ “ชุมชนชนบท” มีความรู้จักมักคุ้นกันมากกว่าชุมชนเมือง จึงสร้างเกราะที่แข็งแรงได้ด้วยการช่วยกันเป็นหูตาเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน มีสติไม่ตระหนก รวมถึงผู้นำชุมชนที่ร่วมด้วยช่วยกัน ตัวอย่างที่เทศบาลตำบลน้ำคอก จังหวัดระยอง ซึ่งมีการใช้ธรรมนูญสุขภาพมาก่อน ก็สามารถแตกยอดพลังทางสังคมออกมาเป็นการรวมกลุ่มผลิตหน้ากากได้มากถึง 6,000 ชุด เพื่อแจกจ่ายให้กับคนในพื้นที่ พร้อมยังรวมทีมจิตอาสาประชาชนกับทีมรัฐร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้มาตรการป้องกันโควิดตกับชาวบ้านในชุมชนเองด้วย

กำลังสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นด่านหน้าของการทำงานในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนจิตสาธารณะที่มีความรู้ด้านสุขภาพ แต่ในเมื่อสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลง องค์ความรู้มีการปรับเปลี่ยน ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้มีความเท่าทันความรู้และสถานการณ์ด้วย

ยกตัวอย่าง การใช้ “ช้อนกลาง” ที่มีการรณรงค์มาโดยตลอด แต่ในกรณีโควิด19 กลับพบว่า การใช้ช้อนกลางไม่ปลอดภัยอีกแล้ว เปลี่ยนเป็นใช้ช้อนกลางส่วนตัวของแต่ละคน หรือในสถานการณ์นี้จำเป็นต้องทราบว่าเราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเสี่ยงต่อโรค เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้

นางอรพรรณ เน้นย้ำถึงการกระจายข้อมูลข่าวสารด้วยเมตตาและเอื้ออาทรต่อกัน ไม่นำเสนอข้อมูลที่สร้างความขัดแย้ง หรือเป็นประเด็นแตกแยก เช่น ใครเป็นต้นเหตุทำให้คนป่วย หรือใครกลับมาจากต่างประเทศ เพราะเมื่อบรรยากาศมีแต่การจ้องจับผิดกัน บุคคลเหล่านั้นยิ่งไม่กล้าเปิดเผยตัวตน เป็นอันตรายต่อการแพร่ระบาดต่อไป
ในตอนท้าย รองฯ อรพรรณ บอกว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังเชิญชวนองค์กรเครือข่ายภาคีด้านสุขภาพและสังคมทุกองค์กร มาร่วมหารือว่าจะสามารถบูรณาการภารกิจ เครื่องมือ หรือทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน เพื่อหนุนเสริมการทำงานของชุมชนให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

นั่นเพราะ หากภาครัฐ ภาคประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น และบุคลากรทุกฝ่ายพร้อมที่จะร่วมมือกัน ชุมชนก็จะไม่โดดเดี่ยว และทุกคนก็จะร่วมกันก้าวข้ามวิกฤตสุขภาพที่เรากำลังเผชิญขณะนี้ไปได้อย่างแน่นอน

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  24th Mar 20

จำนวนผู้ชม:  34273

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง