Sub Navigation Links

การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหาร

Facebook


ความสำคัญและผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหารต่อประเทศไทย
๑. การผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นสัดส่วนที่สูงในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังจะเห็นได้จาก บัญชีประชาชาติปี ๒๕๕๓ ซึ่งรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของประเทศไทย ณ ราคาประจำปีมีมูลค่า ๑๐.๘ ล้านล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเฉลี่ยต่อคน (per capita GNP) ๑๕๓,๙๕๒ บาท และมีรายได้ประชาชาติ (National Income: NI) ประมาณ ๗.๗ ล้านล้านบาท จากโครงสร้างการผลิตของประเทศไทย ในระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓
๒. อาหารที่ผลิตจากภาคเกษตรมีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ ๑๐ ในขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ ๓๐ ของ GDP และในภาคการผลิตอุตสาหกรรมดังกล่าว หมวดอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในห้าของการผลิตภาคนี้ทั้งหมด
๓. ปี ๒๕๕๔ การค้าของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ ๑๕ ล้านล้านบาท (๔.๕๗ แสนล้านเหรียญสหรัฐ) โดยมูลค่าการค้ากับกลุ่มอาเซียนซึ่งเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอันดับหนึ่ง ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในห้าของการค้าของไทยทั้งหมด โดยไทยได้ดุลการค้าจากกลุ่มอาเซียน (มูลค่าส่งออกมากกว่านำเข้า) ไทยส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ และนำเข้าจากประเทศมาเลเซียสูงสุด ทั้งนี้สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โดยในกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกคือ น้ำตาลทราย (อันดับ ๑๐) และมูลค่าการค้าระหว่างกันมีแนวสูงขึ้น

การค้าในอาเซียนและความตกลงที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหาร
(ก) สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากร
๔. อาเซียนซึ่งจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา ในปี ๒๕๓๕ (AESEAN Free Trade Area: AFTA : 1992) และได้จัดทำความตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (Agreement on the Common Effective Preferential Tariff Scheme for the ASEAN Free Trade Area : CEPT-AFTA) เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคการค้าด้านภาษีนำเข้า (ศุลกากร) ของสินค้าที่อยู่ในรายการเจรจา และผลิตในอาเซียนที่เป็นไปตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดตามที่อาเซียนกำหนด กล่าวคือ ให้ภาษีนั้นเหลือต่ำที่สุด (ร้อยละ ๐ – ๕) ขจัดปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และกำหนดเป้าหมายให้สินค้าทุกตัวที่อยู่ในรายการ (inclusion list) ไม่มีภาษีนำเข้า และสินค้าในบัญชีอ่อนไหว (sensitive list) มีอัตราภาษีสุดท้ายที่ร้อยละ ๕ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นไป ต่อมาปี ๒๕๕๒ อาเซียนปรับปรุงความตกลงCEPT-AFTA เป็นความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA 2009)ให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับกฎเกณฑ์ทางการค้าในระดับสากล มีความครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับการค้าสินค้ามากขึ้น
๕. ATIGA ประกอบด้วย ๘ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑) การลดภาษีตามพันธกรณี CEPT-AFTA ๒) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ๓) มาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร ๔) การอำนวยความสะดวกทางการค้า ๕) ศุลกากร ๖) มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบรับรอง ๗) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และ ๘) มาตรการเยียวยาทางการค้า
๖. นอกจากนี้ จากข้อกำหนดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งมีแนวทางการนำร่องการรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยทดลองเร่งรัดใน ๑๒ สาขาสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการในสาขาเหล่านั้นอย่างเสรี และสร้างการรวมกลุ่มในด้านการผลิต จัดซื้อวัตถุดิบเพื่อส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตร่วมของอาเซียนและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ภาษีของสินค้าที่อยู่ในรายการเจรจาจะมีภาษีลดลงเร็วขึ้นจากกรอบอาฟตาอีก ๓ ปีคือ ปี ๒๕๕๐ สำหรับสมาชิกอาเซียนเดิม ๖ ประเทศ และ ปี ๒๕๕๕ สำหรับสมาชิกอาเซียนใหม่ ๔ ประเทศ โดย ๒ ใน ๑๒ สาขาดังกล่าวได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตร และผลิตภัณฑ์ประมง
(ข) มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
๗. อาเซียนยังมีข้อตกลงด้านการกำหนดมาตรฐานของสินค้า โดยความตกลง ATIGA กำหนดให้มีการควบคุมกำกับด้านเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบร่วมด้วยกลไกการกำหนดข้อตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ผ่านคณะกรรมการที่ปรึกษาของอาเซียนสำหรับมาตรฐานและคุณภาพ การผสานกฎระเบียบในการควบคุมกำกับคุณภาพสินค้า และการจัดตั้งระบบการเฝ้าระวังสินค้าภายหลังการวางตลาด และระบบการแจ้งเตือน นอกจากนี้ อาเซียนยังกำหนดให้ใช้ แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านมาตรฐานภายใต้ความตกลงอุปสรรคทางการค้าด้านเทคนิค และกรอบและแนวทางด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชตามความตกลงขององค์การการค้าโลกว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ปกป้องชีวิตมนุษย์ สัตว์ หรือพืช หรือสุขภาพของแต่ละประเทศสมาชิก ในด้านการปฏิบัติให้อ้างอิงมาตรฐานสากลระหว่างประเทศ แนวทาง และข้อแนะนำซึ่งพัฒนาโดยองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้แก่ the Codex Alimentarius Commission (Codex), the World Organisation for Animal Health (OIE), the International Plant Protection Convention (IPPC) และ อาเซียน
๘. กล่าวโดยสรุป สินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร และอาหาร (ซึ่งจัดเป็นสินค้าอุตสาหกรรม) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสินค้าที่สำคัญของอาเซียนที่มีการค้าขายระหว่างประเทศกันมานานแล้วและมีการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากรตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ คือ ไม่มีภาษีหรือมีภาษีน้อยมาก และเป็นผลให้การค้าขายสินค้าเหล่านั้นสะดวกมากขึ้นและมีปริมาณเพิ่มขึ้น นับจากปี ๒๕๕๐ เป็นต้นไป สินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร และอาหารบางส่วนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เกษตร และ ผลิตภัณฑ์ประมง จะไม่มีภาษีศุลกากร นอกเหนือจากเรื่องสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และการศุลกากรแล้ว อาเซียนได้เล็งเห็นถึงความเป็นสากลและการผสานกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เข้ากับระบบการค้าโลก ดังนั้น อาเซียนด้วยความตกลง ATIGA ปี ๒๕๕๒ จึงกำหนดให้จัดทำหลักเกณฑ์ที่จะยอมรับร่วมกันทั้งที่เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชรวมถึงการจัดตั้งระบบเฝ้าระวัง และเตือนภัยต่าง ๆ ซึ่งการจัดทำหลักเกณฑ์และระบบเหล่านี้เริ่มดำเนินการภายหลังจากการริเริ่มด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกรอบอาฟตา ๒๐ ปี และขณะนี้ สมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมของมาตรฐานของสินค้าต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกลุ่มสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและกลุ่มอาหาร
(ค) ความตกลงอื่น ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหาร
๙. นอกเหนือจาก ATIGA ซึ่งเป็นความตกลงที่ว่าด้วยการค้าสินค้าโดยตรงแล้ว ยังอาจมีความตกลงด้านการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการค้าสินค้านี้ แต่เนื่องจากโดยรวมการค้าบริการตามมาตรฐานขององค์การการค้าโลกจะระบุกลุ่มบริการสาขามาตรฐานซึ่งเป็นแรงงานฝีมือ (skilled labour) ในขณะที่การผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจะต้องการกลุ่มแรงงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือ (non-skilled labour) เป็นส่วนใหญ่ อาจมีความต้องการบ้างในส่วนของการบริหารงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร และอุตสาหการ เป็นต้น
(ง) ความไม่ปลอดภัยและการตรวจสอบสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหาร
๑๐. จากนิยามอาหารปลอดภัย ตามข้อ๑.๔ ภาคผนวกท้ายเอกสารหลัก(สมัชชาสุขภาพ ๕ / หลัก ๙.ผนวก ๑) ดังนั้น อาหารที่ไม่เข้าลักษณะดังกล่าวจึงจัดได้ว่าเป็นอาหารไม่ปลอดภัย นอกจากนี้อาหารไม่ปลอดภัยอาจรวมถึงอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่ไม่ผ่านการประเมินความปลอดภัยสำหรับเป็นอาหารมนุษย์
๑๑. การตรวจสอบสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหารว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ จึงมุ่งเน้นการตรวจสอบตามนิยามดังกล่าวซึ่งกำหนดด้วยมาตรฐานภายใต้กฎระเบียบของประเทศไทย และกฎเกณฑ์ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลกที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก และความตกลงต่าง ๆ ที่ไทยเข้าร่วม รวมถึง อาเซียน ดังรายละเอียดในข้อ (๒) และข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าอาหารเหล่านั้น นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ซึ่งตรวจสอบสินค้าเหล่านั้นและพบว่าไม่ปลอดภัย ประเทศเหล่านั้นจะมีระบบเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนให้กับประเทศผู้ส่งออกสินค้ามายังตนเองด้วย
๑๒. หน่วยงานระหว่างประเทศที่ดำเนินการเรื่องการแจ้งเตือนความไม่ปลอดภัยดังกล่าวได้แก่ เครือข่ายหน่วยงานด้านอาหารปลอดภัยระหว่างประเทศ (International Food Safety Authorities Network: INFOSAN) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกอบด้วยสมาชิก ๑๗๗ ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก ทั้งนี้เครือข่ายมีหน้าที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอาหาร แบ่งปันข้อมูล และ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

ความสูญเสีย และผลกระทบต่อสุขภาพจากอาหารไม่ปลอดภัย
๑๓. อาหารที่ไม่ปลอดภัยสามารถทำให้ผู้บริโภคป่วย โดยเกิดพิษต่อสุขภาพทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง (food-borne diseases) และชีวิตของผู้บริโภค ดังจะเห็นได้จากข่าวสารอยู่เนือง ๆ ดังตัวอย่าง ๒ กรณีล่าสุดต่อไปนี้
๑๔. เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ สหรัฐอเมริการายงานยอดผู้ป่วยจำนวน ๒๐๐ คน จากการติดเชื้อซาโมเนลลา(Salmonella) ที่เกี่ยวข้องกับ ๒ ซีโรไทป์ ได้แก่ Salmonella Bareillyและ Salmonella Nchanga โดยรายงานสถิติระหว่างวันที่ ๒๘ มกราคม – ๑๒ เมษายน ๒๕๕๕ ผู้ป่วยกระจายตัวในสหรัฐอเมริกา ๒๑ รัฐ และเขตการปกครอง Columbia ระหว่างช่วงอายุ ๔– ๘๖ ปี ร้อยละ ๕๙ เป็นเพศหญิง และผู้ป่วยร้อยละ ๑๘ (๒๘ ราย) ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล จากการสอบสวนทางระบาดวิทยา พบว่า ผู้ป่วยรับประทานปลาทูน่าแช่แข็งนำเข้า/ผลิตโดยบริษัทแปรรูปทูน่า Moon Fishery Pvt. Ltd.ในประเทศอินเดีย และยังมีการส่งออกไปยังประเทศฝรั่งเศสด้วย ขณะนี้อยู่ในกระบวนการเรียกคืนสินค้าจากสหรัฐอเมริกาซึ่ง INFOSAN Emergency Contact Point ในประเทศอินเดียได้มีการเฝ้าระวัง
๑๕. เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ IHR National Focal Point ของประเทศเยอรมัน ยืนยันผู้ป่วย ๒๑๔ คนและผู้เสียชีวิต ๒ คน จากอาการไตวาย (ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนจากแบคทีเรียกลุ่ม enterohaemorrhagic Escherichia coli (EHEC) ซึ่งสร้างพิษ Shiga toxins หรือ vero toxins ทำลายเซลล์เม็ดเลือดและไต) องค์การอนามัยโลก โดยสถาบัน Robert Koch Institute และ Hamburg Health Authorities ตรวจพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติรับประทาน มะเขือเทศสด แตงกวา และผักกาดหอม
๑๖. อย่างไรก็ตามยังไม่พบงานวิจัยในประเทศไทยที่แสดงถึงมูลค่าความสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจจากการเรียกคืนสินค้า และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และความสูญปีสุขภาวะของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาหารที่ไม่ปลอดภัย

การดำเนินการเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยในประเทศไทย
๑๗. คณะกรรมการอาหารแห่งชาติเป็นองค์กรที่กำกับดูแลการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยทั้งระบบซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๑ และคณะกรรมการฯจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารอย่างบูรณาการแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ โดยกรอบยุทธศาสตร์ฯดังกล่าวประกอบด้วย ๔ ยุทธศาสตร์หลักคือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหาร ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ด้านอาหารศึกษา และด้านการบริหารจัดการ
๑๘. นอกจากนี้ประเทศไทยมีหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยของอาหารจากหลายกระทรวง ทบวง กรม ภายใต้พระราชบัญญัติที่อยู่ในความรับผิดชอบ จากการวิเคราะห์ระบบการจัดการและระบบกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย พบว่า หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยของอาหารเหล่านั้น คือ ๑) กระทรวงสาธารณสุข (หน่วยงานส่วนกลาง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขชุมชน) โดยล่าสุด กระทรวงฯ จัดตั้งสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย เพื่อบูรณาการด้านอาหารปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ๒) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์) ๓) กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ๔) กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าต่างประเทศ) ๕) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) ๖) กระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) ๗) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
๑๙. สำหรับหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยของอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ คือ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเหล่านี้มี พระราชบัญญัติที่กำกับดูแลด้านมาตรฐานและความปลอดภัยตามบทบาทหน้าที่และภารกิจของตนเอง ทำให้เกิดการทับซ้อนของภารกิจ และกฎหมายมีช่องว่างซึ่งไม่ครอบคลุมในสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหารบางกลุ่ม การกำกับดูแลมีกลไกหลากหลายขึ้นกับความเสี่ยงของกลุ่ม/ประเภทอาหารเหล่านั้น เช่น อาหารบางกลุ่มซึ่งไม่เข้าข่ายเป็นอาหารกลุ่มเสี่ยงและไม่ต้องควบคุมการผลิตและไม่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือ อาหารกลุ่มที่ต้องแสดงฉลากจะอาศัยระบบการเฝ้าระวังเมื่ออาหารเหล่านี้เข้าสู่การจำหน่วยในท้องตลาด เป็นต้น
๒๐. ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นที่ตระหนักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและได้มีการหารือและความพยายามบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน รวมถึงการวางรูปแบบการดำเนินงานกำกับดูแลและเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารด้วย

นโยบายและยุทธศาสตร์การจัดการด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร
๒๑. จากยุทธศาสตร์หลักทั้ง ๔ ด้านของกรอบยุทธศาสตร์การจัดการอาหารของประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารแห่งชาตินั้น ยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และอาหารศึกษาสัมพันธ์กับประเด็นความปลอดภัยของสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร และอาหารภายใต้ประชาคมอาเซียน ภายหลังจากการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ฯแล้วเสร็จ ขณะนี้คณะกรรมการฯเริ่มการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยการทำงานของคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ซึ่งในหนึ่งยุทธศาสตร์หลักจะมียุทธศาสตร์ย่อยซึ่งมีผู้ดำเนินการจากหลายหน่วยงาน นอกจากนี้ แต่ละหน่วยงานจะมียุทธศาสตร์การดำเนินงานของตนเอง ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของหน่วยงานจะสอดคล้องกับภาพรวมของกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และตามบทบาทหน้าที่แห่งพระราชบัญญัติที่หน่วยงานรับผิดชอบ

กลไกและกระบวนการในระดับพื้นที่
๒๒. การบริหารจัดการอาหารปลอดภัยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และประชาชน ซึ่งการทำงานแต่ละพื้นที่จะแตกต่างตามลักษณะทางกายภาพ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนจึงเป็นกลไกเริ่มต้นในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งนี้ หลักการให้ชุมชนมีส่วนร่วม และกระบวนการที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เป็นสิ่งสำคัญ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับอาหารปลอดภัยและมีข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการดังนี้ ๑) สร้างระบบเครือข่ายการเฝ้าระวังอาหารปลอดภัยระดับชุมชนให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะในการเฝ้าระวัง ส่วนภาครัฐ ควรสนับสนุนเครื่องมือกับอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ เชื่อมั่นได้ในการระบบปฏิบัติงานเฝ้าระวังพัฒนาให้เกิดกลไกการรายงานผลสู่สาธารณะอย่างเปิดเผย ๒) เสริมสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในอาหารปลอดภัย โดยจัดทำศูนย์การเรียนรู้ระดับชุมชนด้วยการบูรณาการจากศูนย์ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในชุมชน ๓) จัดตั้งคณะกรรมการอาหารปลอดภัยในระดับพื้นที่โดยให้มีการระดมบุคคลในชุมชนจากหลากหลายอาชีพมาร่วมเป็นคณะกรรมการ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอาหารให้เปลอดภัย
ข้อสรุป
๒๓. จากประเด็นภายใต้การค้าระหว่างประเทศ และผลกระทบต่อสุขภาพ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งมีเป้าหมายความเป็นหนึ่งเดียว มีการเคลื่อนย้ายของสินค้าที่สะดวกขึ้น จึงทำให้มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหารมากขึ้น มีโอกาสที่อาหารที่ไม่ปลอดภัยปะปนเข้ามาเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน การที่จะทำให้เกิดอาหารที่ปลอดภัยนั้น ต้องประกอบไปด้วย การศึกษาความเสี่ยงที่จะเกิดอาหารไม่ปลอดภัย การสร้าง/พัฒนาระบบที่จะช่วยการตรวจสอบเพื่อประเมินความเสี่ยง ป้องกันความไม่ปลอดภัย ผู้ผลิตและผู้บริโภคทราบและตระหนักถึงความเสี่ยงและปัญหาความไม่ปลอดภัยเหล่านั้น และตระหนักถึงการผลิตอาหารคุณภาพและมีความปลอดภัย ผู้บริโภคมีโอกาสเรียนรู้และมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัย ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจ มีวิจารณญาณและความสามารถที่จะเลือกอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับตนเอง ครอบครัวและชุมชน โดยเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการลงมือปฏิบัติ และการมีข้อมูลที่สามารถช่วยให้ติดตามปัญหาและแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง และใช้ประโยชน์ได้อย่างทันท่วงที

login to rate

0 ความนิยม

แจ้งวีดีโอไม่เหมาะสม

เพิ่มวีดีโอที่ชื่นชอบ

จำนวนผู้เข้าชม:  9130

ความคิดเห็น:  0

เพิ่มวีดีโอที่ชื่นชอบแล้ว:  0

Links:0

ไม่พบวีดีโอที่ค้นหา

join INDIA MAFIA CYBER for a free account, or ล็อคอิน if you are already a member