การประชุมนานาชาติออนไลน์ (Webinar) ภายใต้หัวข้อเรื่อง Civil Society Participation in the COVID 19 Response
สรุปการประชุม CSEM Discussion on Civil Society Participation in the COVID 19 21 เมษายน พ.ศ.2563, Webinar Zoom, 18.00-19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย จัดทำโดย กลุ่มงานความร่วมมือระหว่างประเทศ (กป.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, 23 เมษายน 2563
เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2563 เวลา 18.00-19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เครือข่าย Civil Society Engagement Mechanism (CSEM) of UHC2030 ร่วมกับ Social Participation Technical Network (SPTN) จัดการประชุมนานาชาติออนไลน์ (Webinar) ภายใต้หัวข้อเรื่อง Civil Society Participation in the COVID 19 Response โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกกว่า 100 คน
เป้าหมายของการประชุมในครั้งนี้เพื่อหารือและยกระดับบทบาทของภาคประชาสังคม ในการรับมือและร่วมแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 กับภาครัฐ ในการประชุมครั้งนี้มีคุณ Justin Koonin ประธานองค์กร ACON ประเทศออสเตรเลีย และเป็นสมาชิก CSEM เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้วิทยากร 3 ท่าน จาก 3 ทวีปมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ คุณ Robert Yates กรรมการบริหารจาก Centre for Universal Health at Chatham House ประเทศอังกฤษ คุณ Evalin Karijo ผู้อำนวยการ Y-ACT, Youth in Action จากประเทศเคนยา และ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จากประเทศไทย
ผลสำรวจออนไลน์เรื่อง Civil Society Participation in the COVID-19 Response
เครือข่าย CSEM ได้จัดทำการสำรวจออนไลน์เรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 175 คนจาก 56 ประเทศ ทั้งจากทวีปแอฟริกา เอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกา และคาริเบียน ผลสำรวจพบประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้ตอบแบบสอบถาม 99% ซึ่งเป็นภาคประชาสังคม ตอบว่ามีบทบาทในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เป็นการดำเนินงานแบบอิสระไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ หรือเกี่ยวข้องน้อยมาก เช่น การระดมทุน รวมทั้งผลิต และแจกจ่ายหน้ากาก เจลล้างมือ อาหารและน้ำดื่มกับประชาชนผู้เดือดร้อน หรือให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาแก่บุคลากรสาธารณสุขและผู้ที่ถูกกักตัว แต่ก็พบว่ามีบางส่วนทำงานกับภาครัฐ แม้จะมีจำนวนไม่มากแต่ได้รับบทบาทที่สำคัญ เช่น ร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโควิด พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจ จัดทีมเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาและระบุจุดเสี่ยง
ความเห็นจากผลสำรวจชี้ว่าหากขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมแล้วนั้น อาจมีผลต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการตรวจคัดกรองของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งจะนำไปสู่การแพร่กระจายของไวรัสในวงกว้าง ขาดการกระจายยาและอาหารลงไปยังชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ขาดเครือข่ายทางสังคมที่จะช่วยทำให้เกิดการเฝ้าระวัง การกักกันตนเองอย่างมีคุณภาพในระดับชุมชน ในทางกลับกันหากภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและเสริมแรงภาครัฐ จะช่วยเรื่องการสื่อสารไปยังชุมชนและเข้าถึงคนได้มากขึ้น และดึงชุมชนกลับมาเป็นแรงช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 4 ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด 19
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จากประเทศไทย กล่าวถึงโครงการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19 ว่าเป็นโครงการนี้เป็นการสานพลังจากองค์กรระดับชาติ 12 องค์กรเชื่อมไปยังกลไกในพื้นที่ เพื่อสร้างข้อตกลงร่วม พันธะสัญญา หรือธรรมนูญสุขภาพในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นายแพทย์ปรีดาได้ถอดบทเรียนปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโครงการนี้และสามารถขับเคลื่อนได้ทั้งประเทศ ว่าเกิดจาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือ ปัจจัยที่ 1 มีนโยยายที่เอื้อให้เกิดการทำงานแบบข้ามภาคส่วน และมีเวทีปรึกษาหารือในทุกระดับอยู่แล้ว ซึ่งในระดับจังหวัดมีสมัชชาสุขภาพจังหวัด ในระดับอำเภอมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และในระดับตำบลมีหลากหลายเวที เช่นสภาพัฒนาองค์กรชุมชน คณะกรรมการธรรมนูญ
ปัจจัยที่ 2 มีกำลังคนทั้งภาครัฐ บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข รวมทั้งภาคประชาสังคมที่เพียงพอและมีความสามารถ ทำงานอยู่ทุกระดับ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตจึงมีพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือทันที ปัจจัยที่ 3 คือ การมีทรัพยากรในระดับชุมชนที่สามารถนำมาใช้ป้องกันการแพร่ระบาดและแก้ปัญหาวิกฤตจากไวรัสได้ เช่น กองทุนสุขภาพตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน และงบประมาณของท้องถิ่น และปัจจัยสุดท้ายคือรากเหง้าวัฒนธรรมไทยที่เน้นการช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน บทบาทของเยาวชนในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัส จากประเทศเคนยา
คุณ Evalin Karijo ผู้อำนวยการ Y-ACT, Youth in Action จากประเทศเคนยา พูดถึงเยาวชนในภาพรวมของแอฟริกาว่าคือประชากรส่วนใหญ่ของทวีปนี้ เยาวชนได้เข้ามามีบทบาทของหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส โดยทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน และรณรงค์สร้างความตระหนักต่อเรื่องนี้ให้กับเยาวชนผ่านกิจกรรมภาพเขียนฝาผนัง บทเพลง จัดตั้งกลุ่มผลิตสบู่ ผ้าปิดจมูก เป็นต้น แต่ในขณะเดียวที่ทุกคนระดมกำลังแก้ปัญหาโควิดอยู่นั้น กลุ่มเยาวชนเองกำลังกลายเป็นกลุ่มที่ถูกหลงลืมไปในสังคม เพราะพวกเขาเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานได้น้อยลง โดยเฉพาะเรื่องอนามัยเจริญพันธ์ เกิดความรุนแรงทางเพศหรือในครอบครัวมากขึ้น และปัญหาเศรษฐกิจ
โควิด-19 คือบททดสอบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศ
คุณ Robert Yates กรรมการบริหารจาก Centre for Universal Health at Chatham House ประเทศอังกฤษ กล่าวว่าการรับมือกับโควิด 19 นั้น ถือเป็นบททดสอบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้เราจะมีการระดมสรรพกำลังเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เราก็ไม่ควรที่จะลืมการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UHC ที่จะเป็นเครื่องมือการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทั้งนี้คุณโรเบริต์เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่ยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้นำเงินบริจาคในการแก้ปัญหาโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาพัฒนาระบบระบบหลัก ประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะจะเห็นได้ว่าหลายประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถประกาศใช้ในช่วงที่มีวิกฤต เช่น ประเทศไทยประกาศใช้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นประกาศใช้ในช่วงที่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 รวันดาที่ลงทุนด้านสุขภาพแม้ประเทศจะยังได้รับผลกระทบจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ คุณโรเบิร์ตยังเน้นย้ำถึงบทบาทของภาคประชาสังคมที่จะช่วยภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส เช่น ช่วยภาครัฐและภาคีพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลที่ดี มีคุณภาพ เข้าถึงคนทุกกลุ่ม เชื่อมกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงโอกาสการรักษาพยาบาล ตรวจสอบและแก้ไขนโยบายที่สร้างความไม่เท่าเทียม ริดรอนสิทธิมนุษยชน

|
|