รายงานข่าวสุขภาวะ ภาคใต้ สานใจสานพลัง 23 กรกฎาคม 2562 ตอน ชวนคิด ชวนคุย มิติสุขภาพทางปัญญา : ชัยวุฒิ เกิดชื่นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นฉบับที่ 2 ใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2559 ซึ่งระบุเรื่องสุขภาพทางปัญญาไว้ทั้งในส่วนของภาพพึงประสงค์และหลักการสำคัญ โดย สช. กำลังทำงานร่วมกับภาคีเพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องสุขภาพทางปัญญาและเข้าถึงสุขภาพทางปัญญาที่เชื่อมโยงเป็นองค์รวมกับสุขภาพในมิติอื่นๆ นี่คือคำกล่าวของ กรรมการบริหาร รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คุณ ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ในเวที ชวนคิด ชวนคุย มิติสุขภาพทางปัญญา ซึ่ง สช. ร่วมกับ สสส. สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ และธนาคารจิตอาสา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมริชมอนด์ เพื่อช่วยกันหากรอบแนวทางการทำงานร่วมกันในการสร้างสุขภาพทางปัญญาให้แก่สังคม นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ ประธานกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมา สช. ทำงานในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมวางกรอบและมองหาทิศทางสู่สุขภาพทางปัญญาร่วมกัน การพูดคุยครั้งนี้ สช. ได้เชิญหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมหารือ โดยแบ่งฐานการสนทนาเป็น 9 หัวข้อหลักประกอบด้วยฐานธรรมชาติ ฐานจิตอาสา ฐานงานบันดาลใจ ฐานความสัมพันธ์ ฐานการเรียนรู้ ฐานการเคลื่อนไหวร่างกาย ฐานศิลปะหรือความคิดสร้างสรรค์ ฐานภาวนา และฐานความเป็นธรรมทางสังคม ในแต่ละฐาน การพูดคุยเป็นไปอย่างออกรสชาติและดึงเอาสิ่งที่แต่ละคนคิด-ทำออกมาขยายให้คนอื่นสัมผัสและเข้าถึงในเรื่องของแรงบันดาลใจและบทเรียนที่ได้จากการทำงาน อาทิเช่น นาดา ไชยจิตต์ คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คนชายขอบทุกประเภท โดยเฉพาะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมักต้องเผชิญอคติของคนในสังคม ซึ่งนำไปสู่การตีตรา การเลือกปฏิบัติ และหนักสุดคือการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรียนรู้ที่จะเคารพตนเองและผู้อื่น เห็นความสำคัญของการช่วยเหลือผู้อื่น และเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ส่วนในฐานการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นว่า สังคมไทยให้ความสำคัญกับ ความรู้ มากกว่า การเรียนรู้ หลักสูตรเดียวใช้ทั้งประเทศ จึงควรหาแนวทางให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต กรณ๊ตัวอย่างการทำงานของอรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีที่ใช้กระบวนการเขียนเข้าไปทำงานกับผู้ต้องขังในเรือนจำบางขวาง ผลปรากฏว่าผู้ต้องขังเหล่านั้นสามารถเขียนได้กินใจผู้อ่าน อรสมยังเคยทดลองให้ผู้ต้องโทษเขียนนิทานภาพสำหรับเด็ก ผู้ต้องขังที่เป็นอดีตมือปืน 2 คนได้เขียนนิทานแล้วอ่านให้กันฟัง และพบว่านิทานภาพนั้นมีความใสบริสุทธิ์มาก เป็นความใส ความบริสุทธิ์ของเขาทั้งสองที่ถูกทิ้งและไม่ได้รับการเหลียวแลมานาน และนิทานได้กระตุ้นให้ความงามที่ถูกกลบไว้ให้ผุดขึ้นมา กับคำถามที่ว่า แล้วจะวัดความสำเร็จอย่างไรจากเรื่องความคิดสร้างสรรค์และงานศิลปะ ดูเหมือนยากที่จะวัด แต่หากมองให้กระจ่าง ผลงานที่ผู้คนสร้างสรรค์ออกมาก็เป็นตัวชี้วัดในตัวมันเองแล้วไม่ใช่หรือว่าในหัวใจของผู้สร้างสรรค์ยังมีความงามอยู่ ขณะที่ฐานงานบันดาลใจ ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย จาก สวสส. ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของฐานนี้ว่า ยุทธศาสตร์ คือ จะพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผ่านงานที่น่าเบื่อ ที่น่ารังเกียจได้อย่างไร โดยได้ข้อสรุปว่า เรื่องนี้มีแนวทางอยู่ 5 ประการ หนึ่ง-ทำอย่างไรให้คนในองค์กรมองเห็นคุณค่างานของตนเอง เพราะงานทุกงานมีค่า แต่ระบบอาจมาบดบังสายตาคนทำงาน สอง-การมีสัมพันธภาพที่ดีในองค์กร สาม-ทำอย่างไรให้คนในองค์กรมีสติก่อนที่จะทำหรือพูดอะไรออกไป สี่-ทำอย่างไรให้มองเห็นสำนึกต่อสังคมและเพื่อน และ ห้า-ทำอย่างไรให้มองเห็นความหลากหลายของคนในองค์กรได้ส่วนแนวทางที่ทำแล้วได้ผลในเรื่องงานบันดาลใจ คือ การใช้เรื่องเล่าเป็นตัวขับเคลื่อน เพราะการมองเห็นคุณค่างานเป็นเรื่องนามธรรม เห็นไม่ชัด จึงต้องทำผ่านเรื่องเล่า นี้ไปเสริมพลังคนในองค์กรได้ด้วย
|